เมนู

5. วัจฉนขชาดก



ว่าด้วยดาบสผู้มีเล็บงาม


[319] ข้าแต่ท่านวัจฉนขะ เรือนทั้งหลายที่มีเงิน
และโภชนาหารบริบูรณ์ เป็นเรือนมีความสุข
ท่านบริโภคและดื่มในเรือนใด ไม่ต้องขวนขวาย
ก็ได้นอน.
[320] บุคคลผู้เป็นฆราวาส ไม่มีมานะทำการ
งานก็ดี ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี...ไม่ใช้อำนาจลงโทษ
ผู้อื่น การครองเรือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้
ใครเล่าจะครอบครองเรือนไม่ให้บกพร่อง ให้เกิด
ความยินดีได้แสนยากเล่า.

จบ วัจฉนขชาดกที่ 5

อรรถกถาวัจฉนขชาดกที่ 5



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภนักมวยปล้ำชื่อ โรชะ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่ม
ต้นว่า สุขา ฆรา วจฺฉนขา ดังนี้.
ได้ยินว่า นักมวยปล้ำชื่อ โรชะ นั้นเป็นสหายของพระ-
อานนท์. วันหนึ่ง เขาส่งข่าวไปถึงพระเถระเพื่อนิมนต์พระเถระ
มา. พระเถระจึงทูลพระศาสดาไปหา. เขานิมนต์พระเถระให้

บริโภคอาหารที่มีรสเลิศต่าง ๆ แล้วนั่งอยู่ข้างหนึ่ง กระทำ
ปฏิสันถารกับพระเถระ เชื้อเชิญพระเถระด้วยกามคุณ อันเป็น
โภคะของคฤหัสถ์ กล่าวว่า ข้าแต่พระคุณเจ้าพระอานนท์ รัตนะ
ทั้งที่มีวิญญาณและหาวิญญาณมิได้ที่เรือนของกระผมมีมากมาย
กระผมจะแบ่งให้ท่านกึ่งหนึ่ง ท่านจงมาเถิด เราจะครอบครอง
เรือนอยู่ด้วยกันทั้งสอง. พระเถระแสดงโทษในกามคุณแก่เขา
ลุกจากอาสนะกลับไปยังวิหาร พระศาสดาตรัสถามว่า อานนท์
เธอพบกับโรชะแล้วหรือ กราบทูลว่า พบแล้วพระเจ้าข้า ตรัส
ถามว่า เธอพูดอะไรกับเขา กราบทูลว่า โรชะ เชื้อเชิญให้
ข้าพระองค์อยู่ครองเรือน ข้าพระองค์จึงแสดงถึงโทษในการ
ครองเรือนและในกามคุณแก่เขา พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า
ดูก่อนอานนท์ นักมวยปล้ำชื่อ โรชะ มิได้ชักชวนนักบวชให้อยู่
ครองเรือนในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็ได้ชักชวนแล้วเหมือน
กัน พระอานนทเถระทูลอาราธนา จึงนำเรื่องอดีตมาตรัสเล่า.
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์อุบัติในตระกูลพราหมณ์ในตำบล
หนึ่ง ครั้นเจริญวัย ออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในหิมวันตประเทศ
เป็นเวลาช้านาน ได้ไปกรุงพาราณสีเพื่อเสพของเค็มของเปรี้ยว
พักอยู่ที่พระราชอุทยาน รุ่งขึ้นได้เข้าไปยังกรุงพาราณสี. ครั้ง
นั้นเศรษฐีกรุงพาราณสี เลื่อมใสในมารยาทของพระโพธิสัตว์
จึงนำไปสู่เรือนให้บริโภคแล้วรับเอาปฏิญญา เพื่อให้อยู่ในสวน

ปรนนิบัติอยู่. ชนทั้งสองได้เกิดความรักความใคร่ต่อกันและกัน.
อยู่มาวันหนึ่ง เศรษฐีกรุงพาราณสีได้คิดอย่างนี้ด้วยความรัก
และความคุ้นเคยในพระโพธิสัตว์ว่า ชื่อว่าการบวชเป็นทุกข์
เรายังปริพาชก ชื่อว่า วัจฉนขะผู้เป็นสหายของเราให้สึก แล้ว
แบ่งสมบัติทั้งหมดออกกึ่งหนึ่ง แล้วให้แก่วัจฉนขปริพาชกนั้น
ทั้งสองก็จักอยู่ด้วยความปรองดองกัน. วันหนึ่งเศรษฐีนั้นในเวลา
สำเร็จภัตตกิจ ได้ทำปฏิสันถารอย่างอ่อนหวานกับวัจฉนขปริพาชก
แล้วกล่าวว่า พระคุณเจ้าวัจฉนขะ ชื่อว่าการบรรพชาเป็นทุกข์
ฆราวาสเป็นสุข มาเถิดท่าน เราทั้งสองปรองดองกัน บริโภค
กามกันอยู่เถิด แล้วกล่าวคาถาแรกว่า :-
ข้าแต่ท่านวัจฉนขะ เรือนทั้งหลายที่มีเงิน
และโภชนาหารบริบูรณ์เป็นเรือนมีความสุข ท่าน
บริโภคและดื่มในเรือนใด ไม่ต้องขวนขวายก็
ได้นอน.

ในบทเหล่านั้น บทว่า สหิรญฺญา คือถึงพร้อมด้วยรัตนะ 7.
บทว่า สโภชนา คือมีของเคี้ยวของบริโภคมาก. บทว่า ยตฺถ
ภุตฺวา ปิวิตฺวา จ
ได้แก่ บริโภค โภชนามีรสเลิศต่าง ๆ และ
ดื่มเครื่องดื่มต่าง ๆ ในเรือนซึ่งมีทั้งเงินและทั้งของบริโภค. บทว่า
สเยยฺยาสิ อนุสฺสุโก ความว่า ท่านไม่ต้องขวนขวายก็ได้นอน
บนที่นอนอันมีสิริที่ตกแต่งไว้แล้ว. ด้วยเหตุนั้นชื่อว่า การอยู่
ครองเรือนเป็นสุขอย่างยิ่ง.

ลำดับนั้นพระโพธิสัตว์ ฟังเศรษฐีแล้วจึงกล่าวว่า ดูก่อน
มหาเศรษฐี. ท่านเป็นผู้ติดอยู่ในกาม กล่าวคุณของฆราวาสและ
โทษของบรรพชา ก็เพราะความไม่รู้ เราจะกล่าวถึงโทษของ
ฆราวาสแก่ท่าน ท่านจงฟังในบัดนี้เถิด แล้วกล่าวคาถาที่ 2 ว่า :-
บุคคลผู้เป็นฆราวาสไม่มีมานะทำการงาน
ก็ดี ไม่กล่าวคำมุสาก็ดี ไม่ใช้อำนาจลงโทษผู้อื่น
การครองเรือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ใคร
เล่าจะครอบครองเรือนไม่ให้บกพร่อง ให้เกิด
ความยินดีด้วยแสนยากเล่า.

ในบทเหล่านั้น บทว่า ฆรา นานีหมานสฺส ความว่า ขึ้น
ชื่อว่า ฆราวาสผู้ขาดมานะ ไม่พยายามทำการเพาะปลูกและเลี้ยง
สัตว์เป็นต้น ตลอดกาลไม่มี. อธิบายว่า ขึ้นชื่อว่าเรือนจะตั้งอยู่
ไม่ได้. บทว่า ฆรา นาภณโต มุสา ความว่า ชื่อว่าเรือนจะมีอยู่
ไม่ได้ แม้ไม่ยอมกล่าวเท็จเพื่อประโยชน์ไร่นาเรือกสวนเงิน
และทองเป็นต้น. บทว่า ฆรา ฯเปฯ อนิกุพฺพโต ความว่า ผู้ไม่
ถือท่อนไม้ วางท่อนไม้เสียแล้ว ไม่รังแกผู้อื่น เรือนก็ตั้งอยู่ไม่ได้.
ส่วนผู้ใดมือถือท่อนไม้ลงโทษผู้อื่นมีทาสและกรรมกรเป็นต้น
ด้วยการฆ่า จองจำ ตัดอวัยวะและเฆี่ยนเป็นต้น ตามสมควรแก่
ความผิดข้อนั้น ๆ การครองเรือนของผู้นั้นแหละย่อมมั่นคงอยู่ได้.
บทว่า เอวํ ฉิทฺทํ ฯเปฯ ปฏิปชฺชติ ความว่า เมื่อไม่มีการต้อง
โกหกเป็นต้นเหล่านี้ เมื่อเปิดช่องแก่ความเสื่อมนั้น ๆ แม้ต้อง

ทำเป็นนิจซึ่งกิจของฆราวาสให้ครบพร้อมกันได้ยาก ให้น่ายินดี
ได้ยาก เพราะต้องทำเป็นนิจทีเดียว เราก็หมดความดิ้นรนคิดจัก
ครอบครองเรือนอันให้มีครบได้ยากยิ่ง ให้บริบูรณ์ได้ยากนั้น
ด้วยเหตุนั้น ใครเล่าจักครองเรือนนั้นได้.
พระมหาสัตว์กล่าวโทษของฆราวาสอย่างนี้แล้ว ได้กลับ
คืนอุทยานดังเดิม.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประชุม
ชาดก. เศรษฐีกรุงพาราณสีในครั้งนั้นได้เป็นนักมวยปล้ำชื่อ
โรชะ ในครั้งนี้ ส่วนวัจฉนขปริพาชก คือเราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถาวัจฉนขชาดกที่ 5

6. พกชาดก



นกเจ้าเล่ห์


[321] นกมีปีกตัวนี้ดีจริง ยืนนิ่งดังดอกโกมุท
หุบปีกทั้ง 2 ไว้ ง่วงเหงาซบเซาอยู่.
[322] เจ้าทั้งหลายไม่รู้จักกิริยาของมัน พวกเจ้า
ไม่รู้จึงได้พากันสรรเสริญ นกตัวนี้ไม่ได้คุ้มครอง
รักษาพวกเราดอก เพราะเหตุนั้น นกตัวนี้จึงไม่
เคลื่อนไหวเลย.

จบ พกชาดกที่ 6

อรรถกถาพกชาดกที่ 6



พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรง
ปรารภภิกษุโกหกรูปหนึ่ง ตรัสธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า
ภทฺทโก วตายํ ปกฺขี ดังนี้.
ความย่อมีอยู่ว่า พระศาสดาทรงเห็นภิกษุโกหกรูปหนึ่ง
ซึ่งถูกนำตัวมาเฝ้า ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปนี้มิใช่
โกหกในบัดนี้เท่านั้น แม้เมื่อก่อนก็โกหก แล้วทรงนำเรื่องอดีต
มาตรัสเล่า.
ในอดีตกาลครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ใน
กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์เป็นปลามีบริวารมากอาศัยอยู่ใน